หน่วยบริการด้านสวัสดิภาพสัตว์ชุมชน
โครงการหน่วยบริการด้านสวัสดิภาพสัตว์ชุมชนของซอยด๊อกแบ่งการทำงานเป็น 3 ทีม ซึ่งเดินทางรอบเกาะภูเก็ตไปยังย่านชุมชนและแหล่งพักอาศัยที่มีสุนัขและแมวจรจัดอาศัยอยู่ เช่น ชายหาดและวัด เพื่อตรวจสุขภาพเบื้องต้น และให้ความรู้แก่ผู้ดูแลสัตว์ในชุมชนในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการสังเกตสุนัขและแมวที่มีอาการป่วยหรือบาดเจ็บ สัตว์จำนวนกว่า 14,000 ตัวได้รับการดูแลรักษาด้วยหน่วยบริการในปี พ.ศ. 2566
ด้วยความร่วมมือกับคนรักสัตว์และวัดในแต่ละชุมชน โครงการนี้จึงได้ให้เผยแพร่ความรู้เรื่องการดูแลสุนัขและแมวเป็นวงกว้าง ซึ่งทำให้ผู้ที่ดูแลสัตว์ในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสัตว์ นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังสนับสนุนอาหารสัตว์ให้แก่กลุ่มเครือข่ายนี้ ในการกระจายอาหารต่อให้แก่สุนัขและแมวรอบเกาะ
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือเพื่อให้สุนัขและแมวในชุมชนได้รับการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อป้องกันโรคติดต่อและอาการเจ็บป่วย รวมถึงผู้ดูแลสัตว์สามารถปฐมพยาบาลและรักษาเบื้องต้นได้ก่อนนำส่งสัตวแพทย์ ซึ่งทำให้สัตว์เจ็บปวดและทรมานน้อยลง และเป็นการลดโอกาสในการรับเข้ามารักษาที่ศูนย์พักพิง เพื่อสงวนพื้นที่ให้เฉพาะสัตว์จรจัดที่บาดเจ็บฉุกเฉิน
โครงการการศึกษา
มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย เชื่อมั่นว่าทัศนคติที่ดีและความเมตตาต่อสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก หากมีประชากรจำนวนมากมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุนัขและแมวจะส่งผลให้การทารุณกรรมสัตว์และการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงลดน้อยลง
มูลนิธิฯ ได้จัดตั้งฝ่ายการศึกษาขึ้นในปีพ.ศ. 2560 เพื่อให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ในวัยเรียน โดยเริ่มตั้งแต่ชั้นปฐมวัย และได้เปิดใช้งานศูนย์การเรียนรู้เพื่อสวัสดิภาพสัตว์ซึ่งเป็นห้องเรียนเพื่อสวัสดิภาพสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย ที่ศูนย์พักพิง บ้านไม้ขาว จ.ภูเก็ต ในปีพ.ศ.2563
เนื้อหาสำคัญที่เป็นแกนหลักของโครงการการศึกษา คือการให้ความรู้เรื่องสวัสดิภาพสัตว์ทั้ง 5 ประการ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสวัสดิภาพสัตว์ (Universal Declaration on Animal Welfare หรือ UDAW) ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันในระดับนานาชาติว่าสัตว์มีความรู้สึก พวกเขารับรู้ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานได้ ความต้องการของสัตว์ต้องได้รับการเคารพ ความโหดร้ายต่อสัตว์ต้องสิ้นสุดลงอย่างถาวร ซึ่งหมายรวมถึงสัตว์ทุกชนิดและสัตว์ที่เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว
1.อิสระจากความหิวกระหาย (Freedom from hunger and thirst)
2.อิสระจากความไม่สบายกาย (Freedom from discomfort)
3.อิสระจากความเจ็บปวดและโรคภัย (Freedom from pain injury and disease)
4.อิสระจากความกลัวและไม่พึงพอใจ (Freedom from fear and distress)
5.อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ (Freedom to express normal behavior)
สัตวแพทย์ฝึกงาน
นอกจากโครงการการศึกษาที่ให้ความรู้แก่เยาวชนแล้ว เรายังรับนักศึกษาสัตวแพทย์จากประเทศต่าง ๆ เข้ามาทำงานร่วมกับสัตวแพทย์ประจำที่ศูนย์พักพิง ซึ่งจะได้เรียนรู้การช่วยเหลือและหัตถการทางการแพทย์ต่าง ๆ ทั้งการผ่าตัด เคสการช่วยเหลือ ซึ่งสัตว์จรจัดที่เข้ามารับการรักษาที่มูลนิธิฯ มีอาการบาดเจ็บและโรคที่หลากหลายจากการใช้ชีวิตข้างถนน จึงเป็นการฝึกประสบการณ์การทำงานที่คุ้มค่า ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการสัตวแพทย์ฝึกงาน คลิกที่นี่