Social Media Share

 

ชีวิตวัยเกษียณที่ประเทศไทย

โดยผิวเผินอาจจะดูเหมือนว่า จอห์นและจิลล์ ดัลลีย์เป็นเพียงคู่สามีภรรยาชาวอังกฤษที่จะมาใช้ชีวิตยามเกษียณที่จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย ทั้งสองมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จในอาชีพจากประเทศอังกฤษ จิลล์มีอาชีพเป็นนักการธนาคาร และจอห์นมีอาชีพในเขตอุตสาหกรรมเคมี 

ทั้งสองได้มาแต่งงานกันที่ภูเก็ตในปี 2539 และตกหลุมรักทันทีกับเกาะสวรรค์ ชายฝั่งตะวันตกของประเทศไทยแห่งนี้ ทั้งคู่ได้กลับมาท่องเที่ยวที่นี่หลายครั้งหลังการแต่งงาน และในที่สุดตัดสินใจวางแผนล่วงหน้าว่า เมื่อมีทุนสำรองเพียงพอที่จะเกษียณ ภูเก็ตจะเป็นบ้านหลังสุดท้ายของทั้งสอง

ในปี 2546 ความฝันของทั้งสองก็กลายเป็นจริง เมื่อจอห์นมีอายุได้ 53ปีและจิลล์มีอายุได้ 44 ปี ทั้งคู่ก็ตัดสินใจบินตรงสู่ภูเก็ต เพื่อจะมาเริ่มชีวิตใหม่  

หลังจากใช้ชีวิตทำงานประจำไปเช้ากลับเย็นมาเป็นเวลาหลายปี ทั้งสองก็พร้อมจะเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต และต้องการที่จะตอบแทนสังคมให้กับเกาะภูเก็ต ทั้งคู่ต้องการที่ช่วยเหลือชุมชนภูเก็ตที่ซึ่งได้ฝากความทรงจำอันแสนสุขให้กับเขาทั้งสองตลอดหลายปีที่ผ่านมา จอห์นนั้นได้ตั้งปณิธานไว้ล่วงหน้าแล้วว่าต้องการที่จะทำงานที่ช่วยเหลือปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในเกาะแห่งนี้ ซึ่งความจริงแล้วปัญหานี้ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในภูเก็ตเท่านั้นแต่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ

ในการเดินทางที่ผ่านมา สามีภรรยาดัลลีย์ได้สังเกตเห็นสุนัขและแมวจรจัดที่หากินกันตามข้างถนน ที่ไม่เพียงแต่มากมายทั่วไปเต็มถนน  (ในขณะนั้นประมาณที่ 70,000 ตัว) แต่ยังได้เห็นสภาพอันน่าเวทนาของพวกเขา ตามที่จอห์นเคยกล่าวว่า

เราทั้งคู่ถึงกับตกใจที่ได้เห็นในครั้งแรก สุนัขส่วนใหญ่ผอมโซจากการขาดอาหาร ส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อน ร่างกายปกคลุมไปด้วยแผลพุพอง หลายตัวมีบาดแผลเปิดกว้างที่คงจะได้รับมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือจากการกัดกัน หรือแม้แต่การถูกกระทำทารุณกรรมโดยมนุษย์ บาดแผลส่วนใหญ่เป็นแผลติดเชื้อเต็มไปด้วยหนอนและพยาธิ ติดเชื้ออักเสบรุนแรง สุนัขเหล่านั้นต้องใช้ชีวิตอยู่ข้างทางอย่างที่ไม่มีใครดูแลพาไปรักษา ผมต้องการจะช่วยหาทางออกเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขา แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรกับปัญหานี้ เพราะขนาดของปัญหานั้นเกินกว่าจะรับมือไหว

 

การได้พบกับมาร์โก

ในระหว่างที่ทั้งคู่กำลังสืบเสาะศึกษาอดีตของการแก้ปัญหาจากที่ผ่านมาว่าได้มีการช่วยเหลือหมาและแมวจรมากันอย่างไร เขาทั้งสองก็ได้ไปพบกับผู้หญิงชาวดัทช์คนหนึ่ง ชื่อ มาร์โก ฮอมเบิร์ค เป็นชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในเมืองไทย เพิ่งจะย้ายมาอยู่ที่ภูเก็ตได้ไม่นานจากกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา เธอได้ดูแลทำหมันสุนัขในละแวกบ้านในกรุงเทพฯ โดยการพาสุนัขไปที่คลีนิคใกล้บ้าน และได้ตั้งองค์กร ชื่อ “มูลนิธิซอยด๊อก” ทั้งสามจึงได้ผนึกกำลังกัน และตัดสินใจว่าการแก้ปัญหาสุนัขและแมวจรจัดอย่างยั่งยืนในภูเก็ตคือการรณรงค์การทำหมันขนาดใหญ่ วิธีการนี้จะสามารถเห็นผลการลดจำนวนสัตว์ที่เกิดใหม่ตามถนน ที่น่าเวทนา เจ็บปวดและไร้คนดูแลได้อย่างชัดเจน

แผนการของพวกเขาคือเริ่มเปิดดำเนินการทำหมันเคลื่อนที่ทั่วเกาะ จอห์น จิลล์และมาร์โกได้ผันตัวเองมาเป็นคนจับหมา (และหลายครั้งที่ต้องเป็นผู้ช่วยสัตวแพทย์ด้วย) การผ่าตัดทำหมันก็เริ่มดำเนินการไปทั่วเกาะ โดยมีสัตวแพทย์อาสาและพยาบาลอาสาจากต่างประเทศร่วมทำงานด้วย  มีสัตวแพทย์ชาวออสเตรเลียท่านหนึ่งที่มาอาสาดำเนินโครงการทำหมันเล็กๆ ตามวัดต่างๆที่มีอยู่มากมายในภูเก็ต (ซึ่งสัตว์เหล่านี้ได้รับการดูแลจากพระสงฆ์) สัตวแพทย์ท่านนั้นได้บริจาคอุปกรณ์เครื่องมือการผ่าตัดให้กับมูลนิธิฯ เพราะเธอต้องย้ายไปประเทศฮ่องกง รวมทั้งยังมีสัตวแพทย์คนไทยอีกสองคนที่เข้ามาช่วย โดยการลดค่าผ่าตัดทำหมันให้ในราคาต้นทุน โครงการทำหมันครั้งนี้เริ่มขึ้นอย่างเล็กๆ แต่สัมฤทธิ์ผลเป็นอย่างยิ่ง

 

การสูญเสียและความหวังใหม่

ครอบครัวดัลลีย์ต้องประสบกับความท้าทายอันใหญ่หลวงสองครั้งในปี 2547

ขณะที่ จิลล์เข้าลุยโคลนลงไปจับหมาที่ถูกยิงยาสลบ มันตกใจและวิ่งเตลิดไปที่โคลน (ปลักควาย)  จิลล์จึงได้รับเชื้อโรคหายากชนิดหนึ่งซึ่งมีผลให้เธอต้องตัดขาตั้งแต่หัวเข่าลงไปทั้งสองข้าง  แต่เพียงสามสัปดาห์หลังการผ่าตัดเท่านั้น จิลล์ก็กลับมาทำงาน บริหารทีมทำหมันบนรถล้อเข็น และในที่สุดก็ฝึกฝนตนเองจนสามารถใช้ขาเทียมเดินเองได้

 

ในเดือนธันวาคม 2547 ได้เกิดเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย สูญเสียชีวิตนับแสนคน รวมทั้ง เพื่อนสนิทของคุณจิลล์ ผู้ที่ร่วมเป็นอาสาของมูลนิธิฯ ด้วยกัน  ถึงอย่างนั้น มูลนิธิฯ ก็ยังคงเข้าปฏิบัติงานช่วยเหลือ จัดหาอาหารให้กับสัตว์จรจัดที่ได้รับผลกระทบ และ ช่วยปลอบโยนสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้เคราะห์ร้ายและญาติมิตรของผู้เสียชีวิต ให้กับชุมชนหลังเหตุการณ์

หากปี พ.ศ. 2547 เป็นปีแห่งการสูญเสีย คงกล่าวได้ว่าปี พ.ศ. 2548 เป็นปีแห่งความหวัง สามวันหลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิได้ผ่านพ้นไปที่ทั้งสามได้มีส่วนช่วยเหลือผู้คน จิลล์บนรถเข็นได้เริ่มต้นทำภารกิจให้อาหารและรักษาสุนัขที่ยังเหลือรอดชีวิตอยู่รอบเกาะจำนวนมาก สุนัขกว่าหลายพันตัวที่บ้านและที่พักพิงพัดหายไปอย่างไม่เหลือซาก หากจะพอมีเรื่องดีให้นึกถึงในเหตุการณ์ครั้งนี้อยู่บ้าง คงเป็นการที่กลุ่มคณะทำงานเล็ก ๆ นี้ได้เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่อาสาสมัคร สี่เดือนหลังจากความสูญเสีย พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากสัตวแพทย์อาสาและประชาชนทั่วไปจำนวนมากที่เดินทางมาที่เกาะภูเก็ตเพื่อร่วมช่วยเหลือสัตว์ ทำให้สามารถจัดตั้งคลินิกได้ในหลายพิกัด

นอกจากนี้ World Society for the Protection of Animals (WSPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณในการบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือสัตว์ในยามวิกฤตได้สนับสนุนด้านการเงินแก่โครงการทำหมันเป็นเวลาสองปี ทำให้สามารถจ้างสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่กู้ภัยสัตว์ประจำได้เป็นครั้งแรก  และข่าวดีคือจิลล์ได้รับมอบขาเทียมและเริ่มฝึกเดิน รถเข็นจึงถูกจอดสนิทตั้งแต่นั้นมา และได้ใช้งานอีกครั้งในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเธอ

ปลายปี พ.ศ. 2548 คณะทำงานจึงได้เป็นหน่วยงานแรกที่เริ่มจากชาวต่างชาติและได้รับการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิฯ ในประเทศไทย และได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการบริหารชาวไทยขึ้น

ที่ทำการของมูลนิธิฯ ในระยะแรกเป็นบ้านเช่าอยู่ในตัวเมืองภูเก็ต แต่ด้วยการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของจำนวนสุนัขที่เข้ามารับการรักษาทำให้ต้องมีการขยับขยาย มูลนิธิฯ ได้ขอใช้พื้นที่บ้านพักพิงสุนัขจรจัดจังหวัดภูเก็ตโดยแลกเปลี่ยนกับการช่วยดูแลและรักษาสุนัขที่นั่นโดยได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่สำหรับคลินิกและที่พักพิงของสุนัข

 

ทะยานสู่ความสำเร็จอย่างไม่หยุดยั้ง 

จากปี 2549 ถึง 2560 จิลล์และจอห์นได้นำมูลนิธิฯ ผ่านความเจริญเติบโต โดยยังคงยึดความมุ่งมั่นตั้งใจเดิมเป็นเป้าหมายในการบรรเทาความทุกข์ยากของสุนัขและแมวจรจัดของประเทศไทย มาร์โกได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในต้นปี 2549 ที่ซึ่งเธอยังคงดำเนินการให้การศึกษาและบริการการทำหมันต่อไป

การเติบโตของมูลนิธิฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความจำเป็นต้องมีที่ตั้งใหม่ให้กับศูนย์พักพิงและคลินิก และในปี 2551 มีที่ดินแปลงใหญ่เปิดขายในหมู่บ้านไม้ขาว ทางเหนือของจังหวัดภูเก็ต การก่อสร้างจึงได้เริ่มดำเนินการเพื่อสร้างศูนย์พักพิงแห่งใหม่ และได้กลายเป็นสำนักงานใหญ่ของมูลนิธิฯ จนทุกวันนี้

ในปี 2554 มูลนิธิฯ ได้เริ่มดำเนินโครงการรณรงค์ยุติการส่งออกเนื้อสุนัขผิดกฎหมาย โดยมีการประมาณว่า สุนัขไทยกว่า 500,000 ตัวต่อปีถูกส่งไปประเทศเวียดนามเพื่อนำไปเป็นเนื้ออาหาร ที่ผ่านมา มีการจับกุมเพียงสองครั้งเท่านั้นในช่วง 15 ปีก่อนถึงปี 2554 ธุรกิจนี้ผิดกฎหมายเพียงเพราะฝ่าฝืนกฎระเบียบ พรบ. โรคระบาดเท่านั้น เพราะมีเพียงข้อบังคับสั่งห้ามการเคลื่อนย้ายสุนัขที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า อันจะมีผลกระทบต่อการแพร่กระจายของโรคระบาด ในช่วงที่มูลนิธิฯ เข้าทำงานปราบปราม สุนัขนับพันตัวได้รับการช่วยชีวิตและเกิดการจับกุมขึ้นนับสิบครั้งจากความพยายามของทีมสอบสวนเฉพาะกิจของมูลนิธิฯ

ในปี 2556 มีการตรวจพบว่า สุนัขจำนวนมากที่รอดชีวิตมาจากธุรกิจ กลับต้องล้มป่วยเพราะปัญหาประชากรสุนัขล้นพื้นที่ในศูนย์พักพิงของรัฐบาล และเนื่องจากไม่มีงบประมาณที่จะดูแลพวกเขาอย่างเหมาะสม ทำให้ผู้สนับสนุนของมูลนิธิฯ ได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์เพื่อก่อสร้างศูนย์พักพิงขนาดใหญ่ขึ้นบนพื้นที่ของด่านกักกันบุรีรัมย์นั้นเอง รวมทั้งยังได้บริจาคทุนทรัพย์การดูแลสัตว์ต่อไปด้วย ปัจจุบัน มูลนิธิฯ ยังคงจัดหาอาหารและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้กับศูนย์ต่อไปเพื่อรักษาให้สุนัขเหล่านี้ยังคงสภาพแข็งแรงสมบูรณ์ สุนัขจะได้รับการส่งตัวเป็นระลอก มายังศูนย์ใหญ่ที่ภูเก็ตเพื่อตรวจสุขภาพและปรับพฤติกรรมใหม่ให้พร้อมที่จะได้รับการอุปการะไปอยู่บ้านใหม่ในต่างแดน

ประเทศไทยได้เริ่มออกกฎหมาย พรบ.สวัสดิภาพสัตว์ในปลายปี 2557 และร่วมกับปัจจัยอื่นๆ  การมีพรบ ป้องกันการทารุณกรรมต่อสัตว์และปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ฉบับนี้ เป็นผลให้ การบริโภคเนื้อสุนัขและแมวกลายเป็นการกระทำผิดกฎหมาย  ซึ่งมูลนิธิฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาร่างพรบ ฉบับนี้ด้วย

วันนี้ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยประกอบด้วยโรงพยาบาลแมวที่มีเครื่องมือครบครัน โรงพยาบาลสุนัขที่มีอุปกรณ์การรักษาทันสมัยและเป็นโรงพยาบาลสำหรับสัตว์จรจัดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย หรืออาจใหญ่ที่สุดในโลก มุ่งมั่นรักษาสัตว์จรจัดเป็นหลัก จิลล์ได้อุทิศช่วงเวลาสี่ปีสุดท้ายของชีวิตในการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโรงพยาบาลสุนัขเพื่อให้สมกับปณิธาณที่ตั้งใจไว้ในการมอบการรักษาที่ดีที่สุดให้แก่สุนัขข้างถนนที่เธอรัก

สุนัขและแมวกว่า หนึ่งล้าน ตัวได้รับการทำหมันโดยมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย สัตว์ในจังหวัดภูเก็ตกว่า 80% ได้ทำหมันและฉีดวัคซีน ภาพของสุนัขป่วย ผอมแห้งอยู่ตามข้างถนนกลายเป็นภาพในอดีตที่เกาะแห่งนี้ หน่วยทำหมันเคลื่อนที่ได้ทำงานในจังหวัดต่าง ๆ และขยายการทำงานไปถึงกรุงเทพฯ เมืองที่มีสุนัขจรจัดอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย

ใช้เวลานานกว่าเก้าปีที่จอห์นและจิลล์ได้เห็นตัวเลขการทำหมันฉีดวัคซีนที่ 50,000 ตัวแรก ในขณะที่ 50,000 ถัดมาใช้เวลาเพียงสามปีเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2562 มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยได้ทำหมันสัตว์เกิน 100,000 ตัวเป็นครั้งแรก และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ได้ไปถึงจำนวนสัตว์กว่าครึ่งล้านตัว นี่คือโครงการทำหมันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

เป็นเรื่องเศร้าที่จิลล์ได้จากไปหลังจากการต่อสู้กับโรคมะเร็งในต้นปี พ.ศ. 2560 จอห์นยังคงทำงานที่มูลนิธิฯ ต่อไปเพื่อสานต่อเจตนารมย์ของจิลล์ที่มีต่อสุนัขและแมวจรจัด เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น MBE จากสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบซที่ 2 ในวันคล้ายวันประสูติเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติในฐานะบุคคลที่ทำงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้