Social Media Share

Veterinarian treating a new patient in the dog hospital

การช่วยชีวิต 

ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยสัตว์ของซอยด๊อกจะนำข้อมูลจากฝ่ายต้อนรับและลงทะเบียนในการวางแผนการเดินทางรอบเกาะภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียงเช่นจังหวัดพังงาเพื่อช่วยเหลือสัตว์ที่บาดเจ็บวิกฤต และบันทึกข้อมูลของสุนัขและแมวจรจัดที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา  ซึ่งฝ่ายต้อนรับและลงทะเบียนนั้นรับเรื่องแจ้งเหตุสัตว์บาดเจ็บเฉลี่ย 1,200 – 1,600 สายต่อเดือน และโดยมากเป็นเคสฉุกเฉินที่ทีมกู้ภัยสัตว์ต้องลงพื้นที่ช่วยเหลือทันที

เมื่อสุนัขและแมวที่บาดเจ็บเดินทางมาถึงศูนย์พักพิง  พวกเขาจะได้รับการตรวจโดยสัตวแพทย์และวินิจฉัยอาการเบื้องต้นก่อนจะถูกนำตัวไปรับการรักษาทางการแพทย์ตามอาการ

สัตว์ที่เข้ามารักษามักมีการติดเชื้อลำไส้อักเสบและไข้หัด, อาการขี้เรื้อนแห้งและขี้เรื้อนเปียก  และเนื้องอกบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ในสุนัข (TVT) ซึ่งอาการเหล่านี้พบได้น้อยมากในประเทศฝั่งตะวันตก  แต่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย  เคสอื่น ๆ ที่พบบ่อยเช่นแผลติดเชื้อ, กระดูกหักเนื่องจากถูกรถชน  ปัญหาผิวหนังและเห็บหมัด

เพื่อลดความหนาแน่นของจำนวนสัตว์ที่เข้ามารักษาและจัดสรรพื้นที่ให้เพียงพอ เราจึงมีหน่วยบริการด้านสวัสดิภาพสัตว์ชุมชน (Community Outreach Programme : COP) เพื่อช่วยเหลือและรักษาสัตว์จรจัดเหล่านี้ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือฉุกเฉินด้วยในบางครั้ง อย่างไรก็ตามจะเน้นการทำงานที่เข้าถึงตัวสัตว์ที่อาการไม่รุนแรงนักและไม่จำเป็นต้องนำส่งโรงพยาบาล  เพื่อเป็นการแบ่งเบางานของสัตวแพทย์ที่ศูนย์พักพิง

 

การรักษา

อาคารภายในมูลนิธิฯ ประกอบด้วยโรงพยาบาลสุนัขและโรงพยาบาลแมว รวมทั้งโรงเรือนแยกส่วนแผนกโรคติดเชื้อ และห้องผ่าตัดทำหมัน ซึ่งโรงพยาบาลสุนัขเป็นสถานพยาบาลสำหรับสุนัขจรจัดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   มูลนิธิฯ ได้รับการติดต่อทั้งทางโทรศัพท์และอีเมล์จำนวนมากในแต่ละวัน สถานการณ์ฉุกเฉินเช่น อุบัติเหตุรถชน การได้รับสารพิษ บาดแผลสาหัสฉกรรจ์ และกรณีถูกกระทำทารุณกรรม จะได้รับการช่วยเหลือเป็นลำดับแรกสุด และจะส่งเจ้าหน้าที่ไปรับสัตว์ทันทีที่เป็นไปได้

เรารับรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยตั้งแต่เวลา 08.00 ถึง 17.00 น. ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ (กรณีฉุกเฉิน รับรักษาจนถึง 21.00 น.ในวันธรรรมดาและถึง 17.00 น. ในวันเสาร์อาทิตย์ 12.00 น.ในวันหยุดสุดสัปดาห์) หากนอกเวลาทำการ มูลนิธิฯ จะติดต่อคลินิกสัตวแพทย์ข้างนอก เพื่อรักษาสัตว์ป่วยเหล่านั้น เมื่อพวกเขาได้รับการรักษาจนแข็งแรงขึ้นได้ระดับหนึ่ง สามารถเคลื่อนย้ายได้ สัตว์เหล่านั้นจะได้รับการส่งตัวกลับเข้ามาที่โรงพยาบาลของเราเพื่อรับการรักษาต่อไป

ในแต่ละเดือนจะมีสัตว์จรจัดที่เข้ามารับการรักษาด้วยอาการต่าง ๆ กันประมาณ 350 – 400 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อรักษาตัวจนหายดีแล้วจะถูกนำส่งกลับไปยังจุดเดิม  และบางส่วนจำเป็นต้องอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงต่อหากทีมแพทย์และทีมนักปรับพฤติกรรมลงความเห็นว่าการนำกลับจุดเดิมจะเสี่ยงอันตราย  ในกลุ่มสุนัขและแมวกลุ่มนี้มักจะอยู่ในโครงการหาบ้านของซอยด๊อก

 

 

โรงพยาบาลสุนัข จังหวัดภูเก็ต

โรงพยาบาลสุนัขเปิดทำการในปีพ.ศ. 2559 เพื่อทดแทนอาคารหลังเดิมที่ใช้งานตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 เมื่อครั้งที่ซอยด๊อกเริ่มก่อตั้งศูนย์พักพิงที่บ้านไม้ขาว 

ในโรงพยาบาลประกอบด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ครบครันและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ทีมแพทย์สามารถปฏิบัติงานในการช่วยชีวิตและเพิ่มโอกาสรอดของสุนัขที่บาดเจ็บวิกฤตได้ทันท่วงที

 

เครื่องเอ็กซเรย์และอัลตร้าซาวน์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคให้แม่นยำยิ่งขึ้น และห้องแลปทำให้ทราบผลการตรวจตัวอย่างเลือดและผิวหนังอย่างรวดเร็วเพื่อนำไปใช้ประกอบการรักษาได้ในทันที  โรงพยาบาลยังมีห้องกายภาพบำบัดและสระสำหรับธาราบำบัด เพื่อฟื้นฟูกระดูกและไขสันหลังที่บาดเจ็บ และบรรเทาการบาดเจ็บด้วยการใช้น้ำบำบัด

โรงพยาบาลสามารถรองรับการรักษาสุนัขได้ 170 ตัว

 

โรงพยาบาลแมว จังหวัดภูเก็ต

เปิดใช้งานในปลายปีพ.ศ. 2562 โรงพยาบาลแมวสร้างขึ้นเพื่อรองรับการรักษาแมวจรจัด ประกอบด้วยห้องผ่าตัด,ห้องทันตกรรม ห้องรักษาแมวป่วยวิกฤติ  วอร์ดแมวป่วยติดเชื้อและไม่ติดเชื้อแยกกันอย่างเป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค  โดยสามารถรองรับการรักษาแมวได้ 144 ตัว 

 

 

คลินิก กรุงเทพฯ
มูลนิธิฯ มีคลินิกขนาดเล็กอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งมุ่งเน้นการทำงานไปที่โครงการ CNVR (จับ I ทำหมัน I ฉีดวัคซีน I ส่งกลับสู่ถิ่นเดิม) และให้การรักษาสุนัขและแมวจรจัดโดยเฉลี่ยปีละ 300 – 400 ตัว